Invisible Borders: Design for Peace and Shared Futures
“เราไม่อาจลบพรมแดนทางการเมืองได้ทันที แต่เราสามารถออกแบบพรมแดนทางสังคมและจินตนาการใหม่ ที่เปลี่ยนเส้นแบ่งให้เป็นจุดบรรจบ”
ในเดือนมิถุนายน 2025 ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชากลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝ่ายที่ช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนอย่างชัดเจน และยังคงเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ตาม MOU 2543
แต่ท่ามกลางเสียงปืนและบาดแผลทางการเมือง ที่เกิดขึ้นรอบตัวอยู่เรื่อย ๆ มีคำถามหนึ่งที่น่าคิดตามดังขึ้นในใจเรา…
มันจะมีวิธีไหนที่จะแก้ไขความขัดแย้งเรื่องพรมแดนได้ ในเมื่อก็ไม่มีใครอยากเสียผลประโยชน์ (ที่ไม่รู้ว่าจริงแล้วเป็นของใคร)

Invisible Borders: แนวคิดการออกแบบในพื้นที่ที่ไม่มีคำตอบ
ในโลกที่การแบ่งเขตแดนยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ง่าย การออกแบบอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่ใช่เพื่อ “ครอบครองพื้นที่” แต่เพื่อ “แบ่งปันพื้นที่”
แนวคิด Invisible Borders หรือ “พรมแดนที่มองไม่เห็น” ชวนให้เรากลับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่เราคิดว่าแยกจากกันโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา ภาษา หรือแม้แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยังเจ็บปวด
ในโลกของการออกแบบ พรมแดนไม่จำเป็นต้องเป็น “กำแพง” มันอาจเป็น “สะพาน” ที่ไม่ใช่เพื่อข้ามไปครอบครอง แต่อาจเป็นเพื่อเดินเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน
บทเรียนจากโลกจริง: พรมแดนที่เปลี่ยนบทบาท
ถ้าการเมืองยังแบ่งพรมแดนไม่ได้… แล้ว เรามาดูแนวคิดในการแก้ปัญหาโดยใช้ “การออกแบบ” จะสามารถทำอะไรได้บ้าง?
1. Khorgos – พื้นที่การค้าร่วมจีน-คาซัคสถาน

Khorgos เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งอยู่ตรงพรมแดนจีนและคาซัคสถาน ที่ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่กลางโดยไม่ต้องใช้วีซ่า
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “เมืองต้นแบบ” ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิดของการแบ่งแยก แต่บนการออกแบบให้ใช้งานร่วมกัน เช่น ตลาด พื้นที่ค้าขาย พื้นที่วัฒนธรรม
พรมแดนกลายเป็น “จุดนัดพบ” แทนที่จะเป็น “เส้นตัดขาด”
2. DMZ Peace Park – สวนสันติภาพกลางคาบสมุทรเกาหลี
แม้จะยังไม่เป็นจริงทั้งหมด แต่แนวคิดในการเปลี่ยนพื้นที่เขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ให้เป็นสวนธรรมชาติสาธารณะ ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักออกแบบและนักนโยบายทั่วโลก
พื้นที่ที่เคยมีแต่ความเงียบสงัดและอาวุธอาจกลายเป็นพื้นที่ที่ธรรมชาติเฟื่องฟู และผู้คนได้พบเจอกันอีกครั้ง

3. Mauerpark – เบอร์ลินหลังการรวมชาติ
หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ส่วนหนึ่งของแนวกำแพงได้กลายเป็นสวนสาธารณะชื่อ
Mauerpark ที่กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งการรวมตัวของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดกลางแจ้ง การแสดงดนตรี และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ
เศษซากของการแบ่งแยกกันในอดีต กลายเป็นพื้นที่สำหรับแบ่งปันความสุขร่วมกัน

4. Haskell Free Library – ห้องสมุดข้ามแดน

Haskell Free Library & Opera House
ที่ชายแดนแคนาดา-สหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นโดยเจตนาให้ครอบคลุมทั้งสองประเทศ โดยมีเส้นสีดำหนาขีดผ่านกลางห้องสมุดเพื่อบอกแนวชายแดน ประตูหน้าอยู่ในสหรัฐฯ แต่หนังสือทั้งหมดอยู่ในแคนาดา ลองจินตนาการดูว่าเมื่อคุณเปิดหนังสือในห้องสมุดแห่งนี้ คุณกำลังอ่านข้ามประเทศอยู่ แค่นี้ก็รู้สึกดีมากแล้วใช่ไหมครับ
แล้วพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา จะออกแบบใหม่ได้ไหม?
พื้นที่ชายแดนหลายแห่งระหว่างไทย-กัมพูชามีศักยภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว แต่กลับกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหว เพราะขาดการมองเห็นว่ามันคือ “ทรัพยากรร่วม”
ถ้าเรากลับคำถามใหม่
- จะเป็นอย่างไร ถ้าเราออกแบบ “ตลาดชายแดน” ที่ผู้คนสองฝั่งมาขายของร่วมกัน?
- จะเป็นอย่างไร ถ้ามี “ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ที่เยาวชนไทย-กัมพูชาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมกัน?
- จะเป็นอย่างไร ถ้าสถานที่แห่งนี้จุดพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงาม ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสจุดร่วมของวัฒนธรรมทั้งสอง?
บางครั้งการเมืองอาจต้องใช้เวลาในการหาข้อตกลง และพิจารณาถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันให้ได้มากที่สุด แต่การออกแบบสามารถลงมือได้เลยวันนี้ เราสามารถออกแบบพื้นที่ที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน สร้างความสัมพันธ์ และเปิดพื้นที่ให้จินตนาการแห่งสันติภาพได้เติบโตได้บนพื้นที่แห่งนี้
เพราะในท้ายที่สุด…
เราอาจจะเห็นว่าการใช้ประโยชน์ร่วมกัน นั้นได้อะไรมากกว่าการเป็นของคนใดคนหนึ่งมากมายนัก
Author