จากบ้านใสไม่มีผนัง! สู่เวทีโลกอย่าง World Expo 2025 ถ้าทุกคนเชื่อว่าสถาปัตยกรรมคือ “ตึก” หรือ “อาคารที่มีหลังคา ผนัง ประตูหน้าต่าง” เท่านั้น เเต่มีสถาปนิกชาวญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง ที่จะทำให้เราต้องคิดใหม่ทั้งหมด สถาปนิกญี่ปุ่นคนนี้ ไม่ได้แค่ “ออกแบบอาคาร” แต่เขากำลัง “สร้างโลก” ที่มองเห็นธรรมชาติกับมนุษย์เป็นส่วนเดียวกัน แนวคิดของเขาเบา โปร่ง ละเอียดอ่อน แต่ทรงพลัง จนผลงานแต่ละชิ้นไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้าง แต่เป็น “ประสบการณ์ที่คุณต้องรู้สึกด้วยตัวเอง”
บทความนี้จะพาไปรู้จัก Sou Fujimoto ผ่านประวัติ แนวคิด และผลงานไอคอนิกที่ทำให้เขาไม่ใช่แค่สถาปนิก แต่คือผู้สร้างจินตนาการใหม่ให้กับโลกแห่งการอยู่อาศัย จะมีอะไรบ้าง เชิญชมได้เลย
ใครคือ Sou Fujimoto?
Sou Fujimoto (โซ ฟูจิโมโตะ) เกิดปี 1971 ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เติบโตท่ามกลางป่าเขา ท่ามกลางลมหายใจของธรรมชาติ และนั่นเอง… คือจุดเริ่มต้นของแนวคิด “Architecture as Nature” โดยเขาไม่ได้มองว่าสถาปัตยกรรมคือกล่องสี่เหลี่ยมที่เราต้องเข้าไปอยู่แต่เป็น “พื้นที่ที่มนุษย์จะได้เคลื่อนไหว คิด และรู้สึกอย่างอิสระ” เหมือนกับว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่างภายใน–ภายนอก, รูปทรง–ฟังก์ชัน, คน–ธรรมชาติ
เส้นทางการศึกษา และการก่อตั้งสตูดิโอ
Fujimoto เคยเรียนด้านฟิสิกส์ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางมาศึกษาสถาปัตยกรรมที่ University of Tokyo และสำเร็จการศึกษาในปี 1994 หลังจากนั้นเขาไม่ได้เข้าไปทำงานในสำนักงานสถาปนิกขนาดใหญ่เหมือนคนอื่น ๆ แต่เลือกทำงานวิจัย และทดลองไอเดียอย่างอิสระ จนเขาได้ก่อตั้งสำนักงานของตัวเองในปี 2000 ในนาม Sou Fujimoto Architects ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในโตเกียว และปารีส
แนวคิดการออกแบบ “ระหว่างธรรมชาติ กับสิ่งปลูกสร้าง”
Fujimoto ได้มีความเชื่อว่า “ธรรมชาติ” ไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับ “สถาปัตยกรรม” แต่ควรเป็นสิ่งที่ผสานอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยผลงานของเขามักเลียนแบบสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ต้นไม้ กลุ่มเมฆ หรือแม้แต่โครงสร้างทางชีววิทยาในระดับจุลภาค (สุดยอดมากก !)
เขาได้มองว่า พื้นที่ว่าง (void) มีความสำคัญพอ ๆ กับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเลยก็ว่าได้ เพราะช่องว่างนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเกิด การตีความที่หลากหลาย และรู้สึกถึงความเป็นอิสระ เช่นเดียวกับที่เขากล่าวว่า:
“Architecture should be something between nature and artificiality.”
“สถาปัตยกรรมควรเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่าง ธรรมชาติ กับ สิ่งประดิษฐ์จากมนุษย์”
Fujimoto ไม่ได้มองว่าสถาปัตยกรรมคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรงตายตัว แต่คือการ สร้างพื้นที่ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ลงในอาคาร แต่หมายถึงการออกแบบที่ให้ความรู้สึก “เป็นธรรมชาติ”กับคนที่ใช้งานที่ โปร่ง โล่ง เบา ไม่บังคับ ไม่ชี้นำ
“I don’t want to design ‘functions’… I want to design possibilities.”
“ผมไม่ได้อยากออกแบบให้มัน ใช้งานอะไร… ผมอยากออกแบบให้มัน เป็นไปได้หลายอย่าง”
ประโยคนี้คือหัวใจสำคัญของงาน Fujimoto เลยก็ว่าได้ ซึ่งเขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่า พื้นที่ตรงนี้ ต้องใช้เป็น “ห้องนั่งเล่น ห้องครัว หรือห้องนอน” แต่เขาอยากให้คนที่เข้ามาในพื้นที่นั้น “รู้สึกได้เอง” ว่าอยากใช้งานอย่างไร ไมาว่าเราจะนั่ง จะยืน จะเล่น จะนอน ก็ได้หมด เพราะเหตุนี้ “ช่องว่าง” ในงานของเขา จึงสำคัญพอ ๆ กับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นนั่นเอง
แต่! ทุกคนรู้มั้ยคะ ว่า Fujimoto ไม่เคยฝึกงานกับใครเลย! เขาได้ฝึกฝน และทดลองออกแบบเองจากห้องเล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัย โดยศึกษางานของสถาปนิกที่โด่งดังอย่าง Le Corbusier, Toyo Ito และ Kazuo Shinohara และเขามองว่า “ธรรมชาติ” ไม่ใช่แค่ฉากหลัง แต่มันคือ “ผู้แสดงร่วม” ในงานสถาปัตยกรรม เช่น แสงแดด ลม ฝน เสียง หรือแม้แต่รากไม้ก็ใช่ อีกทั้งเขาชอบใช้วัสดุธรรมดา ๆ อย่างไม้ เหล็ก แผ่นโพลีคาร์บอเนต แต่ทำให้มันดู “เบา” และ “ล่องลอย” เช่นเดียวกับธรรมชาติที่แปรผัน และยืดหยุ่น โดยเขานิยมสร้างโครงสร้างที่ ‘ซับซ้อนแต่เรียบง่าย’ เหมือนปริศนาทางธรรมชาติ เช่น ต้นไม้หนึ่งต้นที่มีระบบนิเวศครบถ้วนในตัวมันเอง
ผลงานที่ทั่วโลกจับตามองในงาน World Expo 2025 Osaka
ในปี 2025 ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพ World Expo ที่โอซาก้า ภายใต้ธีม “Designing Future Society for Our Lives” แนวคิดหลักคือ “เทคโนโลยีกับมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน” หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai, Japan ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 13 เม.ย. – 13 ต.ค. 2025 คือ โครงสร้างหลักของงานในชื่อ “The Ring Roof” โดย Sou Fujimoto ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นหน้าตาของประเทศในเวทีระดับโลกครั้งนี้
โดยเเนวคิดหลักของ “The Ring Roof” เป็นโครงสร้างวงแหวนไม้ขนาดมหึมา ที่ทอดตัวเหนือพื้นที่นิทรรศการรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 110 เมตร ออกแบบให้เปิดโล่ง ไม่มีผนังปิดทึบ ช่วยให้แสงธรรมชาติและสายลมไหลเวียนได้อย่างอิสระ สะท้อนแนวคิด “ระหว่างธรรมชาติกับสถาปัตยกรรม” ที่ Fujimoto ยึดถือมาตลอด
ในขณะที่หลายพาวิลเลียนในงาน World Expo เลือกใช้เทคโนโลยีล้ำยุคเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศตน Sou Fujimoto กลับเลือกใช้ “ความเบา ความโปร่ง ความว่าง” เป็นภาษาสถาปัตยกรรม เพื่อสื่อถึงการออกแบบสังคมแห่งอนาคตที่เรียบง่าย ยั่งยืน และให้มนุษย์กลับมาเป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิตอีกครั้ง
Fujimoto เลือกใช้ ไม้เป็นวัสดุหลักในการเล่าเรื่องญี่ปุ่น ผ่านวัสดุท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความงามแบบญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะของ “การเติบโต” และ “การเปลี่ยนแปลง” ตามธรรมชาติ วัสดุไม้ที่เขาใช้ส่วนใหญ่ผลิตจากป่าไม้ท้องถิ่น และสามารถถอดประกอบได้ง่ายหลังจบงาน ช่วยลดขยะ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์
แม้โครงสร้างจะดูเบา โปร่ง และเปิดโล่ง แต่วงแหวนขนาดใหญ่ที่ Fujimoto ออกแบบนั้นมีความซับซ้อนทางวิศวกรรมอย่างมาก ตัวโครงสร้างถูกยึดด้วยระบบค้ำยันซ่อนอยู่ ทำให้เส้นสายดู “ลอยอยู่เหนือพื้น” คล้ายกับหมอก หรือเมฆที่ล่องลอยเหนือพื้นที่นิทรรศการ นี่คือ “ความมหัศจรรย์ของน้ำหนักเบา” ซึ่งเป็นลายเซ็นของเขา
ดูงานล่าสุดแล้ว เราย้อนไปดูผลงานเด่น ๆ ในอดีตของเขากัน
รวมผลงานไอคอนิกของ Sou Fujimoto ที่สะท้อนวิวัฒนาการแนวคิด “พื้นที่เพื่อการใช้ชีวิต”
1.Qianhai Cultural Center
📍เซินเจิ้น, จีน | เริ่มออกแบบปี 2022
แนวคิด: “สถาปัตยกรรมที่ไหลลื่นเหมือนธรรมชาติ”
- ศูนย์วัฒนธรรมแห่งอนาคต ผสานศิลปะ เทคโนโลยี และพื้นที่สีเขียว
- ใช้รูปทรงโค้งนุ่มนวลราวกับคลื่นน้ำ เชื่อมต่อแต่ละอาคารอย่างต่อเนื่อง
- ออกแบบให้ทุกพื้นที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย (Flexible Use)
สื่อถึงเมืองแห่งอนาคตที่เคลื่อนไหวไปกับธรรมชาติ มากกว่าจะขัดแย้งกับมัน
2.L’Arbre Blanc
📍มงต์เปลลิเยร์, ฝรั่งเศส | ปี 2019
แนวคิด: “ต้นไม้สีขาว” ที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้
- อาคารสูงที่มีระเบียงยื่นออกมาเหมือนกิ่งไม้
- ออกแบบให้รับแสง ลม และวิวได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกด้าน
- ระเบียงทุกชั้นไม่เหมือนกันเลย เพราะพฤติกรรมการอยู่อาศัยไม่เหมือนกัน
สะท้อนความเชื่อของ Fujimoto ที่ว่า อาคารควร “เติบโต” ไปพร้อมกับผู้อยู่อาศัย เหมือนสิ่งมีชีวิต
3. Serpentine Pavilion
📍ลอนดอน, อังกฤษ | ปี 2013
แนวคิด: “หมอกของโครงสร้าง”
- พาวิลเลียนโปร่งเบา สร้างจากโครงเหล็กสีขาววางซ้อนกันแบบกริด
- ให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในหมอก หรือเมฆที่จับต้องไม่ได้
- ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างใน-นอก เหมือนสวนที่แทรกเข้าไปในโครงสร้าง
เป็นเหมือนกับ ศิลปะเชิงพื้นที่ที่เปลี่ยนการเดินผ่าน ให้กลายเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์
4. Toilet in Nature
📍ชิบะ, ญี่ปุ่น | ปี 2012
แนวคิด: “ความเป็นส่วนตัวที่เปิดเผย”
- สุขาสาธารณะกลางสวน ที่มีผนังใสล้อมรอบสวนขนาดเล็ก
- โถสุขาอยู่ในกลางสวน มีรั้วสูง 2 เมตรล้อมรอบอีกชั้น
- สร้างความรู้สึกปลอดภัยภายใน “พื้นที่ที่ดูเหมือนไม่ปลอดภัย”
ผลงานนี้ Fujimoto อยากท้าทายความคิดดั้งเดิมของ “พื้นที่ส่วนตัว” ด้วยการใช้ธรรมชาติเพื่อสร้างความปลอดภัย จึงได้ออกแบบห้องน้ำนี้ขึ้นมา
5. House NA
📍โตเกียว, ญี่ปุ่น | ปี 2011
แนวคิด: “บ้านต้นไม้ของผู้ใหญ่”
- ไม่มีผนังทึบเลย บ้านทั้งหลังเป็นกระจก
- พื้นที่แบ่งเป็น 21 ชั้นย่อยที่วางซ้อนกันไปมา
- แรงบันดาลใจจากการปีนต้นไม้ในวัยเด็ก: อิสระ เคลื่อนไหวได้ทุกทิศทาง
ไม่ใช่แค่บ้านโปร่ง แต่คือบ้านที่ “เคลื่อนไหว” ได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล
6. Musashino Art University Library
📍โตเกียว, ญี่ปุ่น | ปี 2010
แนวคิด: “หนังสือคือผนังแห่งปัญญา”
- ห้องสมุดที่ใช้ชั้นหนังสือเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร
- เดินเข้าไปแล้วเหมือนอยู่ในโลกของหนังสือจริง ๆ
- หนังสือคือทั้งสื่อการเรียนรู้ และวัสดุก่อสร้างของอาคารไปพร้อมกัน
สถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่พื้นที่ใช้งาน แต่คือพื้นที่ที่ส่งต่อความรู้
7. House N
📍โออิตะ, ญี่ปุ่น | ปี 2008
แนวคิด: “บ้านซ้อนบ้าน” Fujimoto มองบ้านว่าเป็น “สื่อกลาง” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
- บ้านที่ออกแบบเป็นโครงซ้อน 3 ชั้น: เปลือกนอก → โครงกลาง → แกนใน
- ควบคุมแสง การมองเห็น และความสัมพันธ์กับภายนอกได้อย่างละเอียด
- เปลี่ยนแนวคิดบ้านจาก “สิ่งที่ห่อหุ้ม” เป็น “ชั้นเชื่อมต่อระหว่างภายนอกกับภายใน
8. Final Wooden House
📍คุมาโมโตะ, ญี่ปุ่น | ปี 2008
แนวคิด: “วัสดุคือพื้นที่”
- บ้านสร้างจากท่อนไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนกัน
- ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ พื้นที่นั่ง นอน วางของเกิดจากมิติของวัสดุเอง
- ใช้ความหนักแน่นของไม้ สร้างความรู้สึกปลอดภัยแบบถ้ำ
Fujimoto ตั้งคำถามว่า “สถาปัตยกรรมต้องเริ่มจากพื้นที่ หรือจากวัสดุ?”
9. Japan Pavilion @ Expo 2020 Dubai
📍ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | ปี 2020
แนวคิด: “มรดกญี่ปุ่นผ่านแสงและเงา”
- ออกแบบร่วมกับทีมญี่ปุ่นอื่น ๆ
- ใช้งานไม้แบบญี่ปุ่นผสมเทคโนโลยี Projection Mapping
- ถ่ายทอดความเป็นญี่ปุ่นผ่าน “ความสงบ สมดุล และจังหวะของแสง”
การออกแบบในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการตีความวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านเทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
และนี่คือเรื่องราวของ Sou Fujimoto สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่อยู่เบื้องหลังสุดไอคอนิกหลากหลายผลงาน บอกเลยว่า เเต่ละผลงานสุดยอดมาก ๆ ซึ่งเขาไม่ได้ออกแบบแค่อาคาร แต่สร้าง “พื้นที่ที่ให้คนใช้ชีวิตอย่างรู้สึกได้ถึงการมีอยู่” ไม่ว่าจะเป็นหมอก โปร่ง โล่ง ว่าง สลัว หรือเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
Sou Fujimoto ใช้ “สถาปัตยกรรม” เหมือนกับใช้ภาษา แต่ไม่ใช่ภาษาเขียนหรือคำพูด แต่เป็นภาษาของ ความรู้สึก …ที่ส่งผ่านเส้นสาย พื้นที่ ช่องว่าง และความโปร่งโล่งเบา ๆ จากผลงานการออกแบบของเขา ที่พอได้เห็นหรือได้เดินเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว มันทำให้เรารู้สึก… มีอยู่จริง
สำหรับเรามองว่า Fujimoto ไม่ได้ออกแบบแค่ “อาคาร” แต่เขาเหมือนสร้างโลกเล็ก ๆ ที่ให้มนุษย์กับธรรมชาติได้อยู่ด้วยกันอย่างนุ่มนวล ฟังดูเรียบง่าย แต่ซับซ้อนมากเลยนะ… เพราะมันต้องเข้าใจทั้ง “คน” และ “ธรรมชาติ” ในเวลาเดียวกันอีกด้วย
จาก “บ้านต้นไม้ใส” ที่โปร่งราวกับไม่มีอะไรในโตเกียว ไปจนถึง “วงแหวนอนาคต” ที่กำลังจะกลายเป็นจุดสนใจระดับโลกใน World Expo 2025 สิ่งที่เราชอบมากในงานของเขา คือมันต้องไม่พยายามให้มันดู “ยิ่งใหญ่!” แต่มัน เบา ละเอียด และเป็นมิตรกับความรู้สึกของคนจริง ๆ
แล้วพอหันกลับมามองบ้านเรา… เราก็แอบคิดเหมือนกันนะว่า ถ้าเมืองไทยจะมีใครสักคนที่ออกแบบด้วยหัวใจแบบนี้ ใครจะเป็น “Sou Fujimoto” ของประเทศเรากันนะ?
ลองนึกดูเล่น ๆ ก็ได้นะ ใครคือสถาปนิกหรือนักออกแบบไทยที่รู้สึกว่า… เขาไม่ได้ออกแบบแค่สิ่งปลูกสร้าง
แต่กำลังออกแบบ “ความรู้สึกของการใช้ชีวิต”? เราอยากรู้เหมือนกันว่า ชื่อไหนจะโผล่ขึ้นมาในใจเป็นชื่อแรกบ้างนะ 🙂