ข้าราชการไปดูงานได้เที่ยว แต่เอกชนไปเที่ยวแล้วได้ไอเดีย : เรื่องจริงที่ย้อนแย้ง

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของภาครัฐ ทำให้เราต้องหันมาตั้งคำถามกับความหมายที่แท้จริงของคำว่า “การดูงาน” และ “การท่องเที่ยว” ในบริบทของสังคมไทย

หากเราได้ยินคำว่า “ไปดูงาน” จากปากข้าราชการไทย เราอาจนึกภาพออกถึงตารางเวลาที่คุ้นเคย – ครึ่งวันสำหรับการประชุม และเยี่ยมชมสถานที่ อีกสามวันสำหรับการช้อปปิ้ง และท่องเที่ยว ทานอาหารหรู และพักโรงแรมระดับ 5 ดาว และบัตรโดยสารชั้นหนึ่ง ทั้งหมดนี้มาจาก “ภาษีของประชาชน”

กรณีล่าสุดที่รัฐมนตรีแรงงานออกมาโต้แย้งว่าการนั่งเครื่องบิน First Class เพื่อไปศึกษาดูงานนั้น “เหมาะสมแล้ว” ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องการจัดสรรงบประมาณในการเดินทางยังคงเป็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามจากสังคม

แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การดูงานในรูปแบบนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับประเทศของเราบ้าง?

ปรากฏการณ์ “นักท่องเที่ยวนักพัฒนา” จากภาคเอกชน

ในขณะที่การดูงานของภาครัฐถูกตั้งคำถาม กลับมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่การท่องเที่ยวของพวกเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจ และคือโอกาสในการเปิดมุมมองใหม่ ๆ

ที่มารูปภาพ : Lee Kong Chian Natural History Museum

เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากการท่องเที่ยว

จากประสบการณ์หลายปีในการทำงานกับเจ้าของธุรกิจ SME ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ในอดีต แนวคิดเรื่องการออกแบบ และการตลาดสมัยใหม่มักจำกัดอยู่ในวงของคนเมือง คนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้เรียนต่อต่างประเทศ

แต่ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดกลับเข้าใจ และนำแนวคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างน่าประหลาดใจ บางครั้งเพียงแค่จุดประกายความคิดเล็ก ๆ พวกเขาก็สามารถต่อยอด และพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่คาดคิด

ที่มารูปภาพ : MUJI Flagship Store Ginza

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือเจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างในจังหวัดจันทบุรี ที่มาปรึกษาเรื่องการปรับปรุงร้านและขยายธุรกิจ หลังจากทริปท่องเที่ยวญี่ปุ่น

 

“ผมไปเที่ยวโตเกียวกับครอบครัว และได้เห็นร้านฮาร์ดแวร์ท้องถิ่นที่นั่น

พวกเขาใช้ระบบจัดการสต็อกที่ทันสมัยมาก มีการใช้ QR Code ติดตามสินค้า

และจัดเรียงอุปกรณ์แบบที่ลูกค้าสามารถทดลองจับและดูตัวอย่างการใช้งานได้”

 

เมื่อเราคุยถึงการปรับปรุงร้านให้มีการจัดพื้นที่แสดงสินค้าใหม่ และการออกแบบกราฟิกให้สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น เขาเข้าใจ และเห็นภาพได้ทันที เพราะมีประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสมา

และอีกกรณีที่น่าสนใจ คือการออกแบบโรงแรมที่ World Heritage Site แห่งหนึ่ง เมื่อเราคุยกันถึงบรรยากาศทางเดินในโครงการว่าควรให้ความรู้สึกเหมือนมุมหนึ่งในเวนิส ที่มีบรรยากาศ Rustic แต่อบอุ่น เจ้าของโครงการเข้าใจได้ทันทีเพราะเคยไปสัมผัสบรรยากาศนั้นมาก่อน และสามารถต่อยอดความคิดไปถึงรายละเอียดการตกแต่ง มุมถ่ายภาพ การจัดแสง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลก หรืออย่างร้านกาแฟที่เชียงใหม่ ที่ได้นำเอาประสบการณ์ของลูกค้าจากการไปเที่ยวเมลเบิร์นมาปรับใช้

 

“การไปนั่งในร้านกาแฟที่โน่นทำให้ผมอยากทำร้านใหม่ที่ไม่ใช่แค่เน้นเรื่องรสชาติหรือการตกแต่ง

แต่ต้องการออกแบบ Touchpoints ตั้งแต่ลูกค้าก้าวเข้าร้านจนกลับออกไป”

 

ร้านใหม่ของเค้าเลยได้คิดตั้งแต่การจัดวางพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการพูดคุย เลือกใช้งานศิลปะท้องถิ่นที่เข้าถึงผู้คน ไปจนถึงการออกแบบเมนูที่เล่าเรื่องราวของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและแหล่งที่มา เพื่อสร้างคุณค่าของกาแฟในร้านให้สูงขึ้น

หลาย ๆ ไอเดียในการออกแบบ และพัฒนาธุรกิจเกิดจากประสบการณ์ที่ได้ไปเห็น เก็บเอามาสะสมไว้ แล้วค่อย ๆ ดึงออกมาใช้ทีละเรื่องตามจังหวะ และเนื้อหาที่เหมาะสม ทดลองปรับแนวคิดให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย

การแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่การนำความรู้กลับมาพัฒนาธุรกิจของตัวเอง แต่ยังรวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่น เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ เมื่อโครงการท้องถิ่นโครงการหนึ่งเปลี่ยนแปลง ร้านค้าใกล้เคียงก็จะเปลี่ยนตาม ไม่ว่าจะตั้งใจแบ่งปันหรือไม่ก็ตาม

เปลี่ยน Mindset จาก “เที่ยวหรู” สู่ “เรียนรู้จริง”

เมื่อเราได้เห็นความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นก็ทำให้คิดได้ว่า ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างภาครัฐและเอกชนคือ “วัตถุประสงค์” ภาครัฐใช้งบประมาณภาษีมหาศาลเพื่อ “ดูงาน” แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นเพียง ”รายงาน” การเดินทางที่แทบจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นรูปธรรมภาคเอกชน ใช้เงินส่วนตัวเพื่อ “ท่องเที่ยว” จึงต้องแน่ใจว่ามันคุ้มค่า และพยามนำประสบการณ์มาพัฒนาธุรกิจ สร้างรายได้ และการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

ที่มารูปภาพ : Singapore Design Week 2024 ที่ Orchard Road

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องทบทวนความหมายของคำว่า “การดูงาน” ในบริบทของระบบราชการไทย? สิ่งที่น่าจะทำได้ คือปรับเปลี่ยนแนวคิด “ศึกษาดูงาน” ของภาครัฐให้มีเกณฑ์ชัดเจนว่าการศึกษาดูงานต้องส่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและผลลัพธ์ของการเดินทางอย่างโปร่งใสให้ประชาชนในฐานะของ “ผู้สนับสนุนการเดินทาง” ได้ทราบ และที่สำคัญ คือการปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้จากการเดินทาง ไม่ใช่การพักผ่อนในนามของการทำงาน บางครั้งการท่องเที่ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาพร้อมกับความอยากรู้อยากเห็นและใจที่ใฝ่รู้ อาจสร้างผลลัพธ์ได้มากกว่าการดูงานที่มาพร้อมกับงบประมาณมหาศาล เพราะสุดท้ายแล้ว การพัฒนาไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเดินทางด้วยตั๋วชั้นไหน แต่อยู่ที่ว่าคุณเปิดใจเรียนรู้ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหนต่างหาก

ที่มารูปภาพ : Singapore Design Week 2024 ที่ Orchard Road

“เราเดินทางไปเพื่ออะไร?”

คำถามนี้อาจดูเรียบง่าย แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบอนาคต การเดินทางนั้นมีมุมมองที่หลากหลาย การแค่ไปเที่ยวพักผ่อนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเดินทางนั้นอาจเปลี่ยนแปลงอนาคตเราได้

“เราจะได้อะไรกลับมาหลังจากการเดินทางครั้งนี้…”

เราจะกลับมาพร้อมไอเดียใหม่ ๆ ที่ทำให้ธุรกิจของของเติบโต หรือ
เราจะกลับมาพร้อมใบเสร็จค่าอาหารร้านชื่อดัง และกระเป๋าแบรนด์เนม?