เมื่อเราพูดถึงแผ่นดินไหว สิ่งที่ทุกคนมักนึกถึงคือ “ตึกถล่ม” หรือ “การพังทลายของสิ่งปลูกสร้าง” แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาคารในเมืองไทยถูกออกแบบมาให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยเพียงพออยู่แล้ว ด้วยข้อกำหนดด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม อันตรายจากปัญหาแผ่นดินไหวไม่ได้มาจากตึกถล่มเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราควรระวังให้มากขึ้นคืออันตรายจาก “สิ่งรอบตัว” ที่อาจเกิดขึ้นได้ในบ้าน และที่ทำงานของเรา จะมีอะไรบ้างเชิญชมได้เลย
1. เฟอร์นิเจอร์รอบตัว: ของหล่นใส่ อันตรายใกล้ตัวที่เกิดขึ้นจริง
เมื่อพูดถึง “ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว” หลายคนมักนึกถึงภาพของอาคารที่ถล่มลงมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว “อันตรายที่เกิดขึ้นบ่อยกว่า” คือการบาดเจ็บจากเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านที่หล่นใส่ในช่วงเกิดแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
แม้ว่าโครงสร้างอาคารจะถูกออกแบบมาให้รองรับแผ่นดินไหวได้ แต่ “เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน” อย่างเช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้เอกสาร ชั้นวางของ โต๊ะขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ของใช้เล็ก ๆ อย่างกรอบรูป โคมไฟ และของตกแต่งบนหิ้ง ต่างหากที่เป็น “ภัยเงียบ” เพราะเมื่อตกลงมา อาจสร้างบาดแผล หรือแม้กระทั่งอันตรายถึงชีวิตได้
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น พบว่า กว่า 46% ของผู้บาดเจ็บในบ้านพักอาศัย มาจากของหล่นใส่ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ยึดกับผนัง เช่น ตู้เอกสาร โต๊ะทานข้าว ชั้นวางของ ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำให้เสียชีวิตโดยตรง แต่ก็ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรัง การเคลื่อนไหวลำบาก และกระทบต่อการอพยพออกจากพื้นที่ในภาวะฉุกเฉิน
การออกแบบพื้นที่ภายในที่ดีต้องคำนึงถึง “พฤติกรรมการใช้งานในชีวิตจริง” โดยเฉพาะในอาคารสูงที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว การจัดวางเฟอร์นิเจอร์จึงไม่ควรมองข้าม เช่น ใช้อุปกรณ์ยึดติดกับผนัง (L-bracket, wall strap) สำหรับชั้นวางหรือเฟอร์นิเจอร์สูง หรือหลีกเลี่ยงการวางของหนักไว้บนหิ้งหรือชั้นบนสุด
2. ระบบไฟฟ้า: เมื่อสายไฟสะบัด ไฟฟ้าก็อาจเป็นภัย
ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว “ไฟฟ้า” คือหนึ่งในต้นเหตุของอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดที่หลายคนมักมองข้ามไป เพราะอันตรายจากระบบไฟฟ้านั้น ไม่ได้เห็นได้ด้วยตาเปล่า และมักเกิดจากความเสียหายที่ซ่อนอยู่ในจุดที่เราคาดไม่ถึง เช่น บนฝ้าเพดาน ในผนัง หรือหลังผนังตกแต่งภายใน
ไฟไหม้ที่เกิดจากแผ่นดินไหวไม่ได้มาจากเปลวไฟ แต่มาจาก “สายไฟเส้นเล็กๆ”
เมื่อแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้น สายไฟที่ติดตั้งไม่มั่นคง หรือไม่ได้ร้อยในท่อที่แข็งแรง อาจเกิดการ “สะบัด หลุด หรือ “เสียหาย” ส่งผลให้เกิด ไฟฟ้าช็อต, กระแสลัดวงจร, หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ เพลิงไหม้ จากการเสียดสีของสายไฟกับโครงสร้างภายใน
ในประเทศไทย การเดินสายไฟในบ้านหลายหลังยังใช้การ “ฝังผนังโดยตรง” โดยไม่ใช้ท่อร้อยสายที่ได้มาตรฐาน หรือเดินสายบนฝ้าโดยไม่มีการยึดแน่นหนา สิ่งที่น่ากังวลคือเราไม่รู้ตัวเลยว่าอันตรายกำลังก่อตัวขึ้นอยู่ภายใน และพร้อมเกิดเหตุได้เสมอ
หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ Northridge, California พบว่า กว่า 60% ของเหตุเพลิงไหม้หลังเหตุการณ์ เกิดจาก ระบบไฟฟ้าภายในบ้านที่เสียหายโดยไม่มีการปิดเบรกเกอร์ทันเวลา อีกทั้งยังพบว่า บ้านที่มีการออกแบบระบบไฟฟ้าแยกโซนชัดเจน และติดตั้งตู้ควบคุมไฟอย่างเป็นระบบ สามารถป้องกันการลุกลามของเพลิงได้ถึง 80%
การออกแบบระบบไฟฟ้าที่ดีไม่ใช่แค่ให้ใช้งานได้ แต่ต้อง ออกแบบเพื่อความยั่งยืนและปลอดภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึง
- การเดินสายไฟในท่อเหล็ก (EMT) หรือท่อโลหะที่ป้องกันการฉีกขาดและอุณหภูมิสูง
- การติดตั้งสายดินและเบรกเกอร์แยกโซน ที่สามารถควบคุมกระแสได้อย่างแม่นยำ
- การเดินสายไฟให้มีความยืดหยุ่น ในบริเวณโครงสร้างที่อาจเกิดการสั่น เช่น เชิงบันไดหรือโครงหลังคา
- การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผ่านมาตรฐาน มอก.
และเมื่อเกิดเหตุใด ๆ หากมีเวลาควรรีบปิดเบรคเกอร์ไว้ก่อนทุกครั้ง
3. ท่อน้ำและระบบประปา: น้ำรั่วก็เป็นเรื่องใหญ่
นอกจากเรื่องไฟที่เรารู้กันว่าอันตรายแล้ว แต่ “น้ำ” เองก็เป็นภัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะระบบประปาในอาคารสามารถเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนได้เช่นกัน และเมื่อมันเสียหาย อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่เกินคาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมภายในบ้าน กลิ่นเหม็นจากท่อแตก หรือแม้กระทั่งเชื้อราและแบคทีเรียที่สะสมในพื้นที่เปียกชื้น
การแตกรั่วของระบบน้ำไม่ใช่เรื่องเล็ก
เพราะแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจทำให้ ท่อ PVC ที่เสื่อมสภาพเกิดรอยร้าวหรือหลุดจากข้อต่อ, จุดต่อของวาล์วแตกโดยที่มองไม่เห็น หรือแม้กระทั่งถังเก็บน้ำเคลื่อนตัวและล้ม ส่งผลให้น้ำไหลออกโดยไม่สามารถควบคุมได้
ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบแบบ ลูกโซ่ เช่น น้ำรั่วไหลลงระบบไฟฟ้า → เกิดไฟช็อต, น้ำท่วมวัสดุตกแต่ง → เกิดความเสียหายหรือเชื้อราในผนัง พื้นไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์
การออกแบบระบบประปาที่ “คิดเผื่อแรงสั่น” สิ่งที่ผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านควรให้ความสำคัญ ได้แก่
- เลือกใช้ ท่อประปาคุณภาพสูง มีมาตรฐานอุตสาหกรรม
- เดินท่อให้มี “จุดยืดหยุ่น” หรือข้อต่อแบบ flexible สำหรับจุดที่อาจเคลื่อนไหว
- ไม่ฝังท่อในโครงสร้างหลักโดยตรง เช่น คาน/เสา เพื่อป้องกันการแตกร้าวร่วม
- ป้องกันแทงค์น้ำล้มด้วย “ฐานรองที่มั่นคงและยึดแน่นกับพื้น”
ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย ร้านอาหาร หรือออฟฟิศ พื้นที่ที่ดีควรมี “จุดควบคุมน้ำ” ชัดเจน เช่น วาล์วตัดน้ำบริเวณทางเข้าแต่ละโซน หรือห้อง utility ที่มี access ง่าย ไม่ซ่อนอยู่หลังผนังตกแต่งหรูจนหยิบไม่ทันในยามฉุกเฉิน
4. แก๊สรั่ว: ภัยเงียบที่เสี่ยงระเบิด
ในบรรดาภัยที่มากับแผ่นดินไหว “แก๊สรั่ว” คือหนึ่งในภัยเงียบที่อันตรายที่สุด เพราะมัน ไม่ส่งเสียง และ มองไม่เห็น แต่สามารถจุดประกายให้เกิด “ระเบิดรุนแรง” หรือ “ไฟไหม้ขนาดใหญ่” ได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที หากไม่มีใครสังเกตหรือป้องกันไว้ก่อน
ระบบท่อแก๊สที่ใช้กันทั่วไปในบ้านเรือนหรือร้านอาหาร มักใช้ท่อโลหะหรือท่อ PE ที่ต่อเข้ากับเตาแก๊ส ถังแก๊ส หรือระบบจ่ายแก๊สตรง ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนสามารถทำให้ ข้อต่อท่อหลุดออกจากจุดเชื่อม, ท่อแก๊สแตกร้าวจากแรงดึง หรือถังแก๊สล้มและเกิดการรั่วได้
ที่น่ากลัวคือ “แก๊สที่รั่ว” อาจสะสมอยู่ในห้องโดยไม่มีใครรู้ตัว และเพียงแค่ “เปิดไฟ”, “เสียบปลั๊ก”, หรือแม้แต่ “สปาร์คจากมือถือ” ก็สามารถจุดระเบิดได้ทันที
หลังจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ฟุกุชิมะ มีเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้หลายจุดภายในเขตชุมชน โดยเฉพาะบ้านที่ใช้ระบบแก๊สหุงต้ม เนื่องจากแรงสั่นทำให้ข้อต่อหลุด และผู้คนที่กลับเข้าบ้านไม่ได้ตัดระบบแก๊สก่อน ทำให้แก๊สรั่วสะสมจนเกิดการระเบิดจากประกายไฟเล็ก ๆ ในห้องครัว
แนวทางการออกแบบที่ปลอดภัย
- ติดตั้ง ระบบตัดแก๊สอัตโนมัติ (Gas Shut-off Valve) ที่สามารถหยุดการจ่ายแก๊สได้ทันทีเมื่อเกิดแรงสั่น
- ใช้ ท่อแก๊สคุณภาพสูง ที่มีความยืดหยุ่น และสามารถทนแรงดึงจากแรงโยกได้
- ติดตั้งท่อให้สามารถระบายอากาศได้ดี ไม่ควรอยู่ในช่องปิดตาย
หลายบ้านหรือร้านอาหารมักออกแบบห้องครัวแบบปิด ท่อแก๊สซ่อนอยู่ใต้พื้นหรือฝังอยู่ในผนัง โดยไม่มีระบบตรวจสอบหรือระบายอากาศ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
- หากปลอดภัย ให้รีบ ปิดวาล์วแก๊ส หรือ ตัดระบบจ่ายแก๊ส โดยเร็ว
- หลีกเลี่ยงการเปิดสวิตช์ไฟ หรือใช้มือถือในบริเวณที่สงสัยว่ามีแก๊สรั่ว
- หากได้กลิ่นแก๊สแรง ให้รีบเปิดหน้าต่าง และออกจากพื้นที่ทันที
5. ทางหนีไฟถูกปิดกั้น: หนีไม่ทันเพราะขวางเอง
ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ “เวลา” คือสิ่งที่มีค่าที่สุด และสิ่งที่สามารถเปลี่ยนจาก “วิกฤต” ให้กลายเป็น “ความปลอดภัย” ได้ทันทีคือ“ทางหนีไฟ”
แต่ปัญหาคือ หลายคนไม่เคยใส่ใจเส้นทางหนีไฟเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ…บางคน “ปิดกั้นมันไว้เอง”
เพราะเห็นแก่ความสวยงามที่บดบัง “ความอยู่รอด”
บ้านพักอาศัย คอนโด ร้านค้า และแม้แต่สำนักงานจำนวนไม่น้อย มักมีการตกแต่งหรือดัดแปลงพื้นที่ภายในโดยไม่คำนึงถึง “ทางหนีไฟที่ควรใช้งานได้จริง” เช่น มักจะวางตู้หรือวางของขวางประตูไว้ หรือล็อกประตูทางหนีไฟไว้ตลอดเวลาเพราะ “กลัวขโมย”
ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น โครงสร้างพังบางส่วน ไฟไหม้ หรือแก๊สรั่ว ผู้คนภายในไม่สามารถหนีออกจากอาคารได้ทันเวลา เพราะทางหนีไฟไม่ใช่แค่ “ช่องว่างในแปลน” แต่คือ “เส้นทางเอาชีวิตรอด” ที่ควรถูกออกแบบให้ใช้งานได้จริงและชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานหลากหลาย เช่น ร้านอาหาร ออฟฟิศ หรือที่พักอาศัย
เมื่อ “ประตูที่เคยเปิดง่าย” กลายเป็น “กับดัก” เพราะวงกบบิดงอ
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแผ่นดินไหวหลายพื้นที่คือ “การติดอยู่ภายในห้อง” โดยไม่สามารถออกมาได้ ไม่ใช่เพราะข้าวของขวาง หรือไฟไหม้ แต่เพราะ “วงกบประตูเกิดการบิดงอ” จากแรงสั่นสะเทือนของโครงสร้าง ทำให้ประตูเปิดไม่ได้เหมือนปกติ ในสถานการณ์จริง หลายคนที่ติดอยู่ในห้องต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก เพราะประตูห้องคอนโดมักเป็นประตูเปิดเข้า ทำให้ยากในการเปิด ต้อง “ให้คนภายนอกพังประตูช่วยชีวิต” เท่านั้น
แผ่นดินไหวไม่ใช่แค่เรื่องของ “ตึกถล่ม” แต่อยู่ที่ว่าเรา “เตรียมพร้อม” แค่ไหน
เมื่อพูดถึงแผ่นดินไหว ภาพในหัวของใครหลายคนมักวนเวียนอยู่ที่ “อาคารถล่ม” หรือ “โครงสร้างพังครืน” แต่ความจริงแล้วเราจะเห็นได้ว่า เมื่อแผ่นดินไหวแล้วโอกาสที่อาคารจะถล่มมีน้อยมาก ขนาด๖ึกโยกไปมายังอยู่ได้ ถ้ามีการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน แต่อันตรายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจริง มักมาจาก สิ่งเล็ก ๆ ที่มองข้าม ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ที่ล้มทับ, สายไฟที่ช็อต, ท่อแตก น้ำรั่ว แก๊สรั่วระเบิด หรือแม้แต่ทางหนีไฟที่เรา “ปิดมันไว้เอง”
และที่น่าตระหนักคือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอีกถึงจะคิดเรื่อง “ความปลอดภัย” เพราะเราสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ หากจะปรับปรุงอาคารใหม่ ก็ควรเลือกใช้วัสดุที่ทนแรงสั่น การวางระบบน้ำ-ไฟอย่างเป็นมาตรฐาน การเผื่อพื้นที่หนีภัยที่เข้าถึงได้จริง และแม้แต่การติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ด้วยใจคิดถึงชีวิต
สิ่งเหล่านี้คืองานของ “การออกแบบเพื่อชีวิต” ที่มีคุณค่ากว่าความสวยงามใด ๆ
เพราะพื้นที่ที่ดี ไม่ควรแค่สวยในวันธรรมดา… แต่ควร “ช่วยชีวิต” ได้ในวันที่ไม่ธรรมดา